ในปัจจุบัน ที่ระบบอุตสาหกรรมก้าวเข้าสู่ยุค “ อุตสาหกรรม 4.0” การใช้เทคโนโลยีและการเชื่อมต่อดิจิทัลถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และ Autonomous Robot หรือ หุ่นยนต์อัตโนมัติเอง ก็ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรม 4.0 เช่นกัน ซึ่ง Robotic Palletizer ถือเป็นกลไกที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Autonomous Robot สำหรับการทำงานเพื่อจัดเรียงสินค้าโดยเฉพาะนั่นเอง
Robot Palletizer คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร
Robot Palletizer คือหุ่นยนต์ที่สามารถจัดเรียงสินค้าและวัสดุบนพาเลทโดยระบบอัตโนมัติ เป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเรื่องการจัดเรียงผลิตภัณฑ์ลงบนพาเลท (Palletizing) โดย Robot Palletizer จะมีประโยชน์เฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรม ในแง่ของการลดต้นทุนการผลิต จากการช่วยเพิ่มปริมาณและความเร็วในการทำงาน เกิดความแม่นยำสูงและลดความผิดพลาดได้ รวมไปถึง Robot Palletizer เอง ยังถูกออกแบบมาให้ยกน้ำหนักได้ในปริมาณมาก ทำให้มีประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานให้แก่พนักงานได้อีกด้วย
Robotic Palletizer มีหลักการทำงานอย่างไร
หลักการทำงานของ Robotic Palletizer จะประกอบไปด้วยส่วนปฎิบัติการ และส่วนโปรแกรมคำสั่ง ที่สามารถป้อนหรือเพิ่มคำสั่งรูปแบบการจัดวางสินค้าบนพาเลท หรือความเร็วในการจัดวางสินค้าได้ แล้วส่งคำสั่งนั้นให้อุปกรณ์ในหุ่นยนต์ หรือชุดหยิบจับที่เรียกว่า Gripping tool ทำหน้าที่ในการหยิบจับสินค้า เพื่อนำสินค้ามาจัดวางตามตำแหน่งบนพาเลทตามโปรแกรมที่ถูกเขียนคำสั่งไว้จากผู้ใช้งาน ซึ่ง Robotic Palletizer นับว่าเป็นระบบการจัดเรียงสินค้าที่มีความหลากหลายมาก เนื่องจากสามารถปรับปลายของอุปกรณ์หยิบจับสินค้าเพื่อจัดวางกล่องสินค้าที่มีรูปร่างภาชนะบรรจุที่แตกต่างกันได้
ประเภทของระบบ Robotic Palletizer
Robotic Palletizer ถูกออกแบบครั้งแรกเมื่อประมาณปี 1970-1980 ซึ่งในปัจจุบัน จะประกอบไปด้วย 4 ประเภทหลักๆ ด้วยกันคือ
-
1. Cartesian
Cartesian robot ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตต่ำ ใช้กับตัวผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักและขนาดที่คงที่ ไม่มีความหลากหลายมาก เหมาะสำหรับจำนวนสายการผลิตน้อยๆ ที่อัตราเร็วในการจัดวางเพียง 10 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ทำให้เป็น robot ที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ลักษณะการทำงานจะเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงตามแนวแกนทั้ง 3 คือ ขึ้น ลง ซ้าย ขวา มีข้อเสียคือต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้งมาก และไม่สามารถใช้กับงานที่มีความละเอียดอ่อนได้
-
2. SCARA
SCARA หรือ Selective Compliant Articulated Robot Arm เป็นหุ่นยนต์จัดเรียงสินค้าที่ใช้งานทั่วไปในสายการผลิตที่มีอัตราการผลิตสูงขึ้นกว่ารูปแบบ Cartesian ซึ่ง SCARA robot สามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 18 กิโลกรัม เหมาะสำหรับงานที่ใช้ความละเอียดอ่อนสูง หรือสายการผลิตตั้งแต่ 1 ถึง 3 ไลน์ ที่อัตราเร็วในการจัดวางสินค้า 20 ครั้งต่อนาที ลักษณะการทำงานของ SCARA robot จะเคลื่อนที่ด้วยการหมุนแขนหุ่นยนต์ไปมารอบแกนหมุน และจะมีเป็นข้อเสียตรงที่จะมีระยะการทำงานที่ค่อนข้างจำกัด
-
3. Articulated
Articulated robot เป็นหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อเลียนแบบการเคลื่อนไหวของแขนมนุษย์ มีการหมุนหลายจุด ทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างยืดหยุ่น จัดเป็นหุ่นยนต์จัดเรียงสินค้าที่มีประโยชน์หลากหลายในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นหยิบจับ ยกของ งานเชื่อม งานตัด และจัดเรียงสินค้า เนื่องจากสามารถทำงานได้รวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนปลายอุปกรณ์หยิบจับสินค้าได้ จึงสามารถใช้งานได้กับสินค้าหลากหลายประเภท นอกจากนั้น Articulated robot ยังสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้สูงถึงเกือบ 1,000 กิโลกรัมเลยทีเดียว (น้ำหนักรวมปลายอุปกรณ์หยิบจับ) ซึ่งความสามารถในการจัดเรียงสินค้าของหุ่นยนต์ประเภท Articulated robot นั้น สามารถทำได้สูงสุดถึง 4 สายการผลิตในเวลาเดียวกัน ทำให้ได้รับความนิยมมาก แต่หากเป็นกรณีที่มีแค่เพียง 1 สายการผลิต Articulated robot จะสามารถทำงานที่น้ำหนัก 22-27 กิโลกรัม ด้วยอัตราเร็วในการจัดเรียงสูงถึง 25 ครั้งต่อนาที (ปฏิบัติงานแบบยก 1 ครั้ง วาง 1 ครั้ง) โดยลักษณะการทำงานของ Articulated robot จะเป็นการเคลื่อนที่แบบหมุนของทั้งตัวแท่น และแขนอุปกรณ์หยิบจับสินค้าได้พร้อมๆ กันตั้งแต่ 3 จุดขึ้นไป
-
4. Gantry
Gantry robot เป็นอุปกรณ์จัดเรียงสินค้าที่หากเทียบกับทั้ง 3 ประเภทด้านบนแล้ว จะทำงานช้าที่สุด แต่จะมีประโยชน์ในแง่ของการจัดเรียงสินค้า หรือยกสินค้าที่มีปริมาณมากๆ ในคราวเดียว หรือผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักสูงมาก เนื่องจากโครงสร้างเป็นแบบเสาสองข้างและมีคานตรงกลาง หุ่นยนต์จัดเรียงสินค้าประเภทนี้จะได้รับความนิยมน้อยกว่าประเภทอื่นๆ เนื่องจากมีราคาสูง